ประโยชน์ของน้ำแร่

Arika
May 12, 2022

--

แร่ธาตุและสารประกอบอินทรีย์เฉพาะในน้ำแร่ธรรมชาติแต่ละประเภทอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้

เสริมสร้างสุขภาพกระดูก

แคลเซียมถือเป็นแร่ธาตุสำคัญที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างและบำรุงกระดูกให้สมบูรณ์แข็งแรง น้ำแร่แคลเซียมหรือน้ำแร่ที่มีปริมาณแคลเซียมมากกว่า 150 มิลลิกรัม/ลิตร จึงเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มคนที่ต้องการแคลเซียมในปริมาณมาก เพื่อใช้ในกระบวนการทำงานของระบบกระดูก อย่างเด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีวัยหมดประจำเดือน และผู้สูงอายุ นอกจากนั้น น้ำแร่ที่มีส่วนประกอบของไบคาร์บอเนตและแมกนีเซียมก็อาจมีประสิทธิภาพในด้านนี้เช่นกัน

เพิ่มสมรรถภาพทางกายขณะออกกำลังกาย

กล่าวกันว่าโซเดียมคาร์บอเนตมีประโยชน์ต่อผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนักในช่วงเวลาสั้น ๆ สลับกับการออกกำลังกายเบา ๆ รวมถึงการปั่นจักรยาน การวิ่ง การว่ายน้ำ หรือการเล่นกีฬาประเภททีม โดยจะเห็นผลช่วงใกล้จบการแข่งขันหรือใกล้หมดเวลาการออกกำลังกาย น้ำแร่ไบคาร์บอเนตยังช่วยเพิ่มปริมาณน้ำและเกลือแร่หลังการออกกำลังกาย การดื่มน้ำแร่ชนิดนี้ในปริมาณ 500–700 มิลลิลิตร ก่อนเริ่มเล่นกีฬาจึงอาจลดโอกาสในการเกิดภาวะเลือดเป็นกรดได้ แต่จำต้องมีการศึกษาประโยชน์ในด้านนี้ต่อไป

ลดระดับความดันโลหิต

นอกเหนือจากส่งเสริมสุขภาพกระดูกแล้ว แคลเซียมและแมกนีเซียมนั้นส่งผลระดับความดันโลหิตด้วย โดยมีงานวิจัยบางชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่า การดื่มน้ำแร่ที่มีแคลเซียมและแมกนีเซียมในปริมาณมากอาจช่วยลดระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงอย่างเห็นได้ชัด แต่งานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นยังได้ผลลัพธ์ที่ไม่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาน้ำแร่และคุณสมบัติด้านการลดความดันโลหิตเพิ่มเติมในอนาคต

บรรเทาอาการท้องผูก

ผลการวิจัยหลายชิ้นเผยว่า น้ำแร่แมกนีเซียมหรือน้ำแร่ที่มีปริมาณแมกนีเซียมมากกว่า 50 มิลลิกรัม/ลิตร อาจช่วยป้องกันและรักษาอาการท้องผูก เช่นเดียวกันกับน้ำแร่ซัลเฟตหรือน้ำแร่ที่มีปริมาณซัลเฟตมากกว่า 200 มิลลิกรัม/ลิตร อาจไปช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง จึงส่งผลให้อุจจาระนิ่มและขับถ่ายออกมาได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ น้ำแร่ประเภทต่าง ๆ ยังอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกมาก เช่น น้ำแร่ซัลเฟอร์และไบคาร์บอเนตจะช่วยรักษาโรคเบาหวานและลดภาวะเลือดเป็นกรดในผู้ป่วยเบาหวาน น้ำแร่ธาตุเหล็กจะช่วยบรรเทาอาการของโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กหรือภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากต้องการดื่มน้ำแร่เพื่อการรักษาโรคโดยตรง ผู้บริโภคควรรองานวิจัยเพิ่มเติมที่พิสูจน์ประโยชน์ของน้ำแร่ในแต่ละด้านให้แน่ชัดเสียก่อน

--

--

No responses yet